ผลงานวิจัยสมุนไพรฟ้าทะลายโจร จากคณะการแพทย์แผนไทย มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
ฤทธิ์ต่อระบบทางเดินหายใจ ช่วยรักษาอาการไอ เจ็บคอ ป้องกันและบรรเทาหวัด จากการศึกษาการใช้ฟ้าทะลายโจรเพื่อรักษาอาการไข้และเจ็บคอเปรียบเทียบกับยาลดไข้พาราเซตามอล พบว่ากลุ่มที่ได้รับฟ้าทะลายโจรขนาด 6 กรัมต่อวัน จะมีอาการไข้และการเจ็บคอลดลงในวันที่ 3 ซึ่งดีกว่ากลุ่มที่ได้รับฟ้าทะลายโจร 3 กรัม/วัน หรือได้รับพาราเซตามอล แต่การติดตามผลเมื่อหลัง 7 วันพบว่าผลการรักษาไม่ต่างกัน และฟ้าทะลายโจรไม่ให้ผลต้านเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของการเจ็บคอ ในการศึกษาเปรียบเทียบการใช้ฟ้าทะลายโจรเพื่อป้องกันหวัด ซึ่งทำในช่วงฤดูหนาว โดยให้นักเรียนรับประทานยาเม็ดฟ้าทะลายโจรแห้ง ขนาด 200 มิลลิกรัม/วัน ติดตามผลไปในเดือนแรกของการทดลองไม่พบความแตกต่างระหว่างกลุ่มที่รับประทานยาและกลุ่มควบคุม แต่หลังจาก 3 เดือนของการทดลองพบว่าอุบัติการณ์การเป็นหวัดในกลุ่มที่ได้ฟ้าทะลายโจรลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม โดยอัตราการเป็นหวัดในกลุ่มที่ได้รับฟ้าทะลายโจรเท่ากับร้อยละ 20 ในขณะที่กลุ่มควบคุมมีอัตราการเป็นหวัดเท่ากับร้อยละ 62 อาจสรุปได้ว่าฟ้าทะลายโจรให้ผลป้องกันของยา (the attributable protective effect) เท่ากับร้อยละ 33 จากการศึกษาเปรียบเทียบการใช้ฟ้าทะลายโจรเพื่อรักษาหวัด โดยใช้ยาเม็ด Kan-Jang (ใน 1 เม็ด ประกอบด้วยสารสกัดฟ้าทะลายโจร 85 มิลลิกรัม ประกอบด้วย andrographolide และ deoxyandrographolide 5.25 มิลลิกรัม และ Acanthopanax senticosus 9.7 มิลลิกรัม ซึ่งมี eleutheroside B และ E ร้อยละ 2) ในผู้ป่วยโรคหวัด อายุ 18-60 ปี จำนวน 61 คน โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มทดลอง 33 คน ได้ยาเม็ดฟ้าทะลายโจร 1,200 มิลลิกรัม/วัน และกลุ่มควบคุม 28 คน ได้ยาหลอก ทำการประเมินผลจากคะแนนรวมของอาการแสดงในแบบประเมินตนเอง เช่น เจ็บคอ น้ำมูก คัดจมูก ปวดหู ไอ ตัวร้อน ปวดหัว รู้สึกไม่สบายตัว และ ผลการตรวจของแพทย์ ได้แก่ เยื่อเมือกในช่องจมูกอักเสบ ไซนัสอักเสบและปวดศีรษะ ต่อมน้ำเหลืองโต ในวันที่ 4 ของการทดลอง พบว่ากลุ่มที่ใช้ฟ้าทะลายโจรมีระยะเวลาของการเป็นโรคหวัดสั้นลง ในขณะที่อีกการศึกษาพบว่าในวันที่ 2 ของการทดลอง กลุ่มที่ได้รับฟ้าทะลายโจรจะมีอาการเหนื่อยและอาการนอนไม่หลับ อาการเจ็บคอและมีน้ำมูกลดลง เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม และในวันที่ 4 ของการทดลองกลุ่มที่ได้รับฟ้าทะลายโจรจะมีอาการทุเลาเร็วกว่าอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยเฉพาะอาการเจ็บคอ มีน้ำมูก และปวดหู และไม่พบผลข้างเคียงใดๆ การศึกษาในผู้ป่วยโรคหวัด โดยให้กลุ่มทดลองรับประทานยาเม็ด Kan Jang ครั้งละ 3 เม็ด 4 ครั้ง/วัน ทำการประเมินผลอาการแสดงด้วยแบบประเมินตนเองของผู้ป่วย เทียบกับการประเมินโดยแพทย์ ผลการทดลองพบว่าผู้ป่วยยอมรับและทนต่อการใช้ยาฟ้าทะลายโจร ได้มากกว่าร้อยละ 80 ผลการประเมินตนเองพบว่าคะแนนของอาการที่ดีขึ้นไม่แตกต่างกันระหว่างกลุ่มทดลองกับกลุ่มควบคุม และกลุ่มทดลองมีความแตกต่างของคะแนนรวมมากกว่ากลุ่มควบคุมร้อยละ 30 แต่เมื่อพิจารณาแยกตามกลุ่มอาการพบว่า กลุ่มทดลองจะมีอาการเจ็บคอลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ผลการทดลองในระยะยาว พบว่าคะแนนที่ผู้ป่วยประเมินตนเองกับการประเมินของแพทย์ ของกลุ่มทดลองจะดีขึ้น เมื่อแยกตามอาการแล้ว กลุ่มทดลองจะมีอาการปวดกล้ามเนื้อ ไอ คอแห้ง ลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ หลังจากการทดลอง 3 วัน กลุ่มทดลอง 14 ใน 89 คน ต้องการการรักษาเพิ่มเติม ในขณะที่กลุ่มควบคุมต้องการการรักษาเพิ่มเติม 44 คน ใน 90 คน จากการศึกษาทางคลินิกในผู้ที่มีการติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจส่วนบนอย่างเฉียบพลัน รวมทั้งโพรงจมูกอักเสบ โดยให้รับประทานยา Kan Jang ครั้งละ 4 เม็ด 3 ครั้ง/วัน นาน 5 วัน ทำการวัดผลโดยให้คะแนนจากการประเมินอุณหภูมิ อาการปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ อาการแสดงทางคอ ไอ อาการแสดงทางจมูก ความรู้สึกไม่สบายตัว และอาการทางตา พบว่าคะแนนรวมทั้งหมดของกลุ่มทดลองสูงกว่ากลุ่มควบคุม โดยจะมีอาการปวดศีรษะ อาการทางจมูก อาการทางคอ และความรู้สึกไม่สบายตัวลดลง ในขณะที่ อาการไอและอาการทางตาไม่แตกต่าง อุณหภูมิในกลุ่มทดลองจะลดลงปานกลาง ในการศึกษาเปรียบเทียบยา Kan Jang และ Immunal (ประกอบด้วยสารสกัดจาก Echinacea purpurea) ร่วมกับการรักษาตามปกติ ในเด็กอายุ 4-11 ปี ซึ่งเป็นหวัดแต่ไม่มีอาการแทรกซ้อน ไม่ระบุขนาดยาที่ใช้นาน 10 วัน พบว่าการให้ Kan Jang ร่วมกับการรักษาตามปกติให้ผลดีกว่า Immunal และกลุ่มควบคุม โดยเฉพาะในคนที่เริ่มมีอาการระยะแรก อาการที่เห็นได้ชัดว่าทุเลาลง คือ น้ำมูกและการบวมคั่งในจมูกลดลง ไม่พบผลข้างเคียง ส่วน Immunal ไม่มีผลดังกล่าว จากการศึกษาในหลอดทดลองพบว่าสารสกัดฟ้าทะลายโจร ซึ่งมีสารสำคัญคือ andrographolide และอนุพันธ์ต่างๆ มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ และมีผลควบคุมการทำงานของเซลล์ในระบบภูมิคุ้มกัน ส่งผลลดการอักเสบและเพิ่มภูมิคุ้มกัน นอกจากนี้การศึกษาในสัตว์ทดลองยังพบว่าสารสกัดมีฤทธิ์ลดไข้อีกด้วย
ฤทธิ์ต่อระบบทางเดินอาหาร ช่วยรักษาอาการท้องเสีย
จากการทดลองรักษาอาการท้องเสียในผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลันและติดเชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรคบิด จำนวน 200 ราย เป็นชาย 98 ราย หญิง 102 ราย ให้รับประทานผงฟ้าทะลายโจรบรรจุแคปซูล ขนาด 250 มิลลิกรัม โดยแบ่งเป็น 2 แผนการรักษา คือ 500 มิลลิกรัม ทุก 6 ชั่วโมง นาน 3 วัน และขนาด 1 กรัม ทุก 12 ชั่วโมง นาน 2 วัน พบว่าฟ้าทะลายโจรให้ผลการรักษาดีเช่นเดียวกับยาเตตร้าซัยคลิน ช่วยลดระยะเวลาที่ต้องนอนพักในโรงพยาบาล ลดปริมาณน้ำเกลือที่ให้ทดแทน และลดปริมาณการถ่ายอุจจาระเหลวทั้งจำนวนครั้งและระยะเวลาที่ถ่ายได้ทั้ง 2 แผนการรักษา โดยการรับประทานในขนาด 1 กรัม จะได้ผลดีกว่าขนาด 500 มิลลิกรัม อย่างไรก็ดีเมื่อเปรียบเทียบผลต่อเชื้ออหิวาตกโรคในอุจจาระผู้ป่วย ฟ้าทะลายโจรลดจำนวนเชื้ออหิวาตกโรคได้ไม่ดีเท่ากับเตตร้าซัยคลิน แต่ลดจำนวนเชื้อบิดได้ดีกว่า จากการศึกษาในอาสาสมัครสุขภาพดี 2 การศึกษา โดยในการทดลองหนึ่งให้รับประทานฟ้าทะลายโจรขนาด 500 มิลลิกรัม 4 ราย และ 1,000 มิลลิกรัม 6 ราย และอีกการทดลองให้รับประทานฟ้าทะลายโจรขนาด 1, 2, 3 และ 6 กรัม นาน 1 สัปดาห์ ทำการเจาะเลือดแยกซีรัมมาทดสอบฤทธิ์ต้านแบคทีเรีย พบว่าฟ้าทะลายโจรมีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของอาการท้องเสียได้น้อยกว่ายาแอมพิซิลลิน จากการทดลองในผู้ป่วย 3 ราย รายที่หนึ่งรับประทานฟ้าทะลายโจรขนาด 500 มิลลิกรัม วันละ 4 ครั้ง ติดต่อกัน 2 วัน เจาะเลือดและปัสสาวะก่อนและหลังรับประทานยา 48 ชั่วโมง รายที่สองรับประทานยาฟ้าทะลายโจรจากประเทศจีน 2 หลอดๆละ 250 มิลลิกรัม เจาะเลือดก่อนและหลังรับประทานยา 2 ชั่วโมง และรายที่สามฉีดฟ้าทะลายโจรขนาด 100 มิลลิกรัม ใน 2 มิลลิลิตร เข้ากล้ามเนื้อ แล้วทำการเจาะเลือดก่อนและหลังฉีดยา 1 ชั่วโมง นำเลือดและปัสสาวะไปทดสอบฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย พบว่าฟ้าทะลายโจรทุกขนาด ทั้งกินและฉีด ไม่มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียที่เกี่ยวข้อง จากการศึกษาโดยใช้สารสกัดฟ้าทะลายโจรชนิดต่างๆ ในสัตว์ทดลองพบว่ามีฤทธิ์ลดการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อลำไส้และท่อนำอสุจิ การศึกษาในหลอดทดลองแสดงให้เห็นว่าฟ้าทะลายโจรมีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรคท้องเสีย อย่างไรก็ตามในบางการศึกษาให้ผลขัดแย้งกัน